การตรวจ HPV ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจพบมะเร็งปากมดลูก

ตรวจ HPV และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในปี 2566 พบว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองในเพศหญิง รองจากมะเร็งเต้านม โดยมีผู้ป่วยใหม่ราว 11-14 คนต่อ 100,000 ราย และมีอัตราตายอยู่ที่ 5-6 คนต่อ 100,000 ราย หรือประมาณ 10 คนต่อวัน

ในปัจจุบันพบว่า โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus: HPV) ซึ่งมีอยู่เกือบ 100 สายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เชื้อเอชพีวีจะถูกร่างกายกำจัดได้ในเวลา 6 – 12 เดือน แต่บางสายพันธุ์จะหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน และไปกระตุ้นให้เซลล์ปากมดลูกกลายพันธุ์จนเป็นมะเร็งในที่สุด ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าเซลล์ปากมดลูกจะกลายเป็นมะเร็งหลังติดเชื้อเอชพีวีนานเกิน 10 – 15 ปี จึงมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีขึ้นมา เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ต้นตอนั่นเองครับ

อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก

ในระยะแรก ความผิดปกติจะยังอยู่ในระดับเซลล์ ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อเริ่มมีก้อนขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ เช่น เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์, ตกขาวมากผิดปกติ และเมื่อโรคเริ่มแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดมากขึ้น ปัสสาวะ/อุจจาระปนเลือด

จะเห็นว่าการสังเกตอาการเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรคในระยะแรก ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงมีความจำเป็นอย่างมากครับ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

1. การตรวจทางเซลล์วิทยา (Cytology testing)

เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการป้ายเอาเซลล์เยื่อบุปากมดลูกไปย้อมเพื่อตรวจหาความผิดปกติ แบ่งเป็นการตรวจแบบดั้งเดิม (Conventional pap smear) และการตรวจแบบลิควิดเบส (Liquid based cytology) ในปัจจุบัน การตรวจแบบลิควิดเบสได้รับความนิยมมากกว่าการตรวจแบบดั้งเดิม เนื่องจากกระบวนการเก็บเซลล์ทำให้ได้เซลล์คุณภาพดี ลดการปนเปื้อนจากเลือด และสารคัดหลั่ง ทำให้สามารถแปลผลได้แม่นยำ

2. การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Testing) 

เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยใช้เทคนิคการตรวจระดับโมเลกุล โดยวิธีนี้จะสามารถระบุได้ว่าเชื้อเอชพีวีที่ตรวจพบเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ โดยเราจะแบ่งกลุ่มเชื้อเอชพีวีได้ดังนี้

  1. กลุ่มเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18
  2. กลุ่มเสียงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, และ 59
  3. กลุ่มก่อโรคหูดหงอนไก่ ได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 (โดยทั่วไปเราจะรักษาผู้ป่วยโรคหูดตามรอยโรค มากกว่าการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีนี้ เนื่องจากความแม่นยำไม่ดีนัก)

เนื่องจากเชื้อเอชพีวีจะถูกตรวจพบก่อนการกลายเป็นเนื้อร้ายราว 10 – 15 ปี การตรวจหาเชื้อเอชพีวีจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกับการคัดกรองอย่างมาก โดยเมื่อผลตรวจไม่พบการติดเชื้อ แพทย์ผู้ดูแลสามารถเว้นระยะห่างของการคัดกรองได้นานถึง 5 ปี

ตรวจ HPV และ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อไหร่

ตามคำแนะนำของ American Society of Cervical Cancer Prevention (ASCCP) แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยาเมื่ออายุ 21 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะทุก 3 ปี ในขณะที่การตรวจหาเชื้อเอชพีวีจะแนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 25 – 30 ปี และเว้นระยะทุก 5 ปี อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย, เคยตรวจพบเซลล์ผิดปกติ หรือเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV infection) อาจจำเป็นต้องรับการตรวจบ่อยขึ้น แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลครับ นอกจากนี้ ASCCP ยังแนะนำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเข้าตรวจคัดกรองเหมือนเดิม ไม่มีข้อยกเว้นครับ

การเตรียมตัวสำหรับตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและตรวจ HPV

  1. ควรเข้ามาตรวจหลังหมดประจำเดือนใหม่ ๆ เพื่อลดการปนเปื้อนเลือด และสารคัดหลั่ง
  2. งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนเข้าตรวจ 1 – 2 วัน
  3. งดการสวนล้างอวัยวะเพศ เนื่องจากอาจทำให้เก็บเซลล์ได้ปริมาณลดลง
  4. สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ แนะนำให้ใส่ชุดกระโปรงเพื่อให้เปลี่ยนชุดได้ง่าย

ตรวจหาเชื้อเอชพีวีร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาตรวจบ่อย ๆนอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกก็เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่า ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก