การคุมกำเนิดมีกี่วิธี เลือกคุมกำเนิดแบบไหนดี

การคุมกำเนิดมีกี่วิธี การเลือกคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การคุมกำเนิดแบบถาวร หรือการทำหมัน และการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ซึ่งบทความนี้ ดับเบิ้ลยูไลฟ์ คลินิกสูตินรีเวช จะพาคุณไปรู้จักวิธีการคุมกำเนิดแต่ละแบบ เพื่อให้คุณทราบความแตกต่าง และแบบไหนที่เหมาะกับตัวเองครับ

การคุมกำเนิดแบบถาวร 

การคุมกำเนิดแบบถาวร หรือการทำหมัน คือวิธีการคุมกำเนิดตลอดชีวิตที่ไม่สามารถกลับมาตั้งครรภ์เองได้อีก กระบวนการจึงมักเป็นการผ่าตัด แต่สามารถทำได้ง่าย ปลอดภัย และยังไม่เสี่ยงกับผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมน สามารถทำได้ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง  

การทำหมันหญิง คือการทำให้ท่อนำไข่อุดตัน เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเดินทางมาผสมกับไข่ โดยวิธีผ่าตัดมีทั้งแบบเปิดหน้าท้อง และส่องกล้อง

การทำหมันชาย คือการตัดและผูกท่อทางเดินของอสุจิ เพื่อไม่ให้อสุจิถูกหลั่งออกมาภายนอกขณะร่วมเพศ แต่ทั้งนี้อัณฑะยังคงผลิตน้ำเชื้อและฮอร์โมนเพศเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามผู้ป่วยหลังทำหมันหญิงไป 10 ปี พบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ราว 0.5% ดังนั้นหากขาดประจำเดือน หรือมีอาการของการตั้งครรภ์ ต้องตรวจปัสสาวะยืนยันเสมอ แม้จะทำหมันไปแล้ว

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว 

การคุมกำเนิดชั่วคราว คือวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อหยุดใช้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการจะมีบุตรในอนาคต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือการคุมกำเนิดระยะสั้น และระยะยาว

1. การคุมกำเนิดระยะสั้น (Short acting)

คือวิธีการที่มีระยะเวลาการคุมกำเนิดน้อยกว่า 1 ปี ได้แก่ การรับประทานยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิดเข้ากล้าม การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย และการนับวันปลอดภัย โดยผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามวิธีการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อัตราการล้มเหลวของวิธีเหล่านี้จึงสูงกว่าการคุมกำเนิดระยะยาว โดยพบว่าอัตราการล้มเหลวของฮอร์โมนคุมกำเนิดจะอยู่ที่ 5-10% ส่วนการใส่ถุงยางอนามัยพบว่าอัตราการล้มเหลวสูงถึง 20%

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงแนะนำให้ใช้ร่วมด้วยเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง

2. การคุมกำเนิดระยะยาว (Long Acting Reversible Contraception: LARC)

คือวิธีการคุมกำเนิดที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานเกิน 1 ปี ได้แก่ การใส่ห่วง และการฝังยาคุม วิธีการเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงโดยมีอัตราการล้มเหลวเพียง 0.05–0.8% ซึ่งใกล้เคียงกับการทำหมันหญิงเลยทีเดียว

ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device: IUD) เป็นเครื่องมือชิ้นเล็ก ๆ สำหรับใส่เข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อทำให้สภาพในโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัว ในปัจจุบันห่วงอนามัยมี 2 ประเภท ได้แก่

  • ห่วงหุ้มทองแดง (Copper IUDs) เป็นห่วงคุมกำเนิดที่มีขดลวดทองแดง ซึ่งประจุของทองแดงจะถูกปล่อยออกมาทีละน้อย และยับยั้งการฝังตัว อายุการใช้งานจะอยู่ที่ 5–10 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณทองแดงในห่วง เนื่องจากห่วงทองแดงไม่มีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบ ผู้ใช้จึงมีประจำเดือนตามปกติ และยังไม่มีความเสี่ยงจากการฮอร์โมนอีกด้วย ข้อเสียของห่วงประเภทนี้คืออาจทำให้ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีประจำเดือนมามากครับ
  • ห่วงฮอร์โมน (Progestin-containing IUDs) เป็นห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินซึ่งออกฤทธิ์ให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลงจนไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ อายุการใช้งานจะอยู่ที่ 5 ปี ผู้ใช้จึงไม่มีประจำเดือน และไม่ปวดท้องประจำเดือนด้วย

การฝังยาคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นการฝังหลอดยาขนาดเล็กเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน โดยแท่งยาจะมีฮอร์โมนโปรเจสติน ซึ่งจะค่อย ๆ ดูดซึม และไปยับยั้งการตกไข่ นับเป็นการคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีระยะเวลาที่คุมได้ 3 – 5 ปีขึ้นอยู่กับยี่ห้อของยาฝังที่ใช้

เพื่อให้เข้าใจง่าย ดับเบิ้ลยูไลฟ์คลีนิก ได้สรุปข้อแตกต่างของการคุมกำเนิดระยะยาวไว้ในตารางนี้ หากสนใจเข้ารับคำปรึกษา หรือบริการคุมกำเนิดที่ได้มาตรฐาน ประสิทธิภาพสูง สามารถเข้ามาตรวจได้ครับ

ตารางข้อแตกต่างของการคุมกำเนิดระยะยาว

เมื่อได้รู้วิธีการคุมกำเนิดมีกี่แบบแล้วก็จะสามารถเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตัวเองได้ การคุมกำเนิดมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการวางแผนครอบครัวเพื่อให้มีลูกในเวลาที่พร้อม หรือใช้เว้นระยะจากมีตั้งครรภ์เพื่อไม่ให้มีลูกถี่เกินไปซึ่งะทำให้คุณแม่ไม่ได้พักผ่อน รวมถึงป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลทางการแพทย์หรือพันธุกรรม หากต้องการคุมกำเนินระยะยาวกับทางดับเบิ้ลยูไลฟ์คลีนิกสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์ @wlife1

ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางดับเบิ้ลยูไลฟ์คลีนิค
คลินิกเฉพาะทางสูตินรีเวช