การฉีดยากระตุ้นไข่ กับ การกินยากระตุ้นไข่ แบบไหนดีกว่ากัน
สำหรับคู่รักที่มีปัญหาการมีบุตรยาก อาจจะต้องมีการทำเด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี่ หรือการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) การฉีดยากระตุ้นไข่เป็นหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการดังกล่าว บทความนี้จึงพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดยากระตุ้นไข่ เพื่อให้ทราบรายละเอียดและผลข้างเคียงต่าง ๆ
การฉีดยากระตุ้นไข่ คืออะไร
ยากระตุ้นไข่เป็นยาที่ใช้เพื่อกระตุ้นฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อให้รังไข่ผลิตไข่ที่โตเต็มที่ มีความสมบูรณ์ และได้ไข่จำนวนมาก เป้าหมายคือเพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิและการฝังตัวให้ประสบความสำเร็จ
การกระตุ้นไข่ 2 วิธี ดังนี้
- การฉีดยากระตุ้นไข่ คือ ยาฉีดกระตุ้นไข่ตก จะเป็นการฉีดฮอร์โมนเพื่อเข้าไปกระตุ้นการสร้างไข่โดยตรง การฉีดยากระตุ้นไข่จำเป็นต้องฉีดให้ตรงเวลาทุกวันเพื่อรักษาปริมาณฮอร์โมนในกระแสเลือดให้คงที่ไม่คลาดเคลื่อน
- การทานยากระตุ้นไข่ คือ ยากินกระตุ้นไข่ตก ยากระตุ้นไข่ตกจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนที่จะเข้าไปกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนที่เข้าไปกระตุ้นไข่ให้มีคุณภาพและสมบูรณ์ที่สุด
การฉีดยากระตุ้นไข่กับการกินยากระตุ้นไข่ แตกต่างกันอย่างไร
ความแตกต่างแรกของการฉีดยากระตุ้นไข่กับการกินยากระตุ้นไข่ คือ ยาที่ใช้สำหรับการฉีดและทานจะเป็นตัวยาคนละประเภท โดยการฉีดยากระตุ้นไข่จะถูกฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และต้องฉีดเป็นเวลาหลายวันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ส่วนยากินจะต้องรับประทานในช่วงต้นของรอบเดือน เหมาะสำหรับผู้ที่มีช่วงเวลาไข่ตกไม่ปกติ หรือร่างกายอยู่ในภาวะมีบุตรยากบางประเภท รวมทั้งกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ โดยถ้าการทานยาไม่ได้ผล แพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้การฉีดยา นอกจากนั้นการฉีดจะใช้เมื่อมีปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ หรือในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การผสมเทียมในมดลูก (IUI) หรือการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (IVF)
ผลข้างเคียงจากการได้รับยากระตุ้นไข่
เมื่อมีการรับยากระตุ้นไข่อาจพบผลข้างเคียง ดังนี้
- อาการปวดท้องหรือปวดเชิงกราน : เนื่องจากรังไข่ตอบสนองต่อยาและเกิดการขยายตัว
- อาการบวมและไม่สบายท้อง : เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน
- อาการปวดศีรษะ : อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
- อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน : เป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของการใช้ยาฮอร์โมน
กรณีผลข้างเคียงรุนแรงอาจเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน (ovarian hyperstimulation syndrome: OHSS) ซึ่งเป็นภาวะที่มีการรั่วซึมของสารน้ำออกจากกระแสเลือดเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ช่องปอด เนื้อเยื่อของแขนขา เนื่องจากการให้ยาเพื่อกระตุ้นรังไข่ จะทำให้สารเคมีบางตัวทำปฏิกิริยาจนเกิดรูรั่วของเส้นเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ปัจจุบันก็พบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้น้อย
การปฏิบัติตัวขณะฉีดยากระตุ้นไข่
ในช่วงการฉีดยากระตุ้นไข่ ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้เพื่อให้ยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- ควรฉีดยาตามเวลาที่แพทย์กำหนด เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดคงที่ และไข่สามารถตอบสนองต่อยาได้เต็มประสิทธิภาพ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเลือกทานอาหารที่หลากหลาย เลือกทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ขาว เต้าหู้ นมสด นมถั่วเหลือง ปลา เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของร่างกายและไข่ ควรเลือกทานอาหารที่มีขั้นตอนการปรุงที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่
- ควรรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
- หลีกเลี่ยงการใช้แรง ไม่ควรใช้แรงมากจนเกินไป รวมถึงการออกกำลังกายหนักอย่างหักโหม
- พักผ่อนให้เต็มที่ ให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนเพียงพอไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ไข่มีคุณภาพดีขึ้น
- หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดยา หรือพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะยามีผลต่อการเจริญเติบโตของไข่
การฉีดยากระตุ้นไข่ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จของการผสมเทียมในมดลูก (IUI) หรือการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (IVF) แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเข้มงวด รวมถึงต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเพื่อให้การจ่ายยาดำเนินไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม หากต้องการเขารับบริการสำหรับผู้มีบุตรยากสามารติดต่อ ขอคำปรึกษาจาก W-life Clinic คลินิกสูตินรีเวช ได้เลย