ทำไมผู้สูงอายุจึงควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ และควรตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้อายุขัยของคนเรายืนยาวขึ้น ร่วมกับอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบัน “ผู้สูงอายุ” หมายถึง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายย่อมเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็งสูงขึ้น การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนกลุ่มนี้ครับ

โรคที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ

โรคที่สัมพันธ์กับภาวะความเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสะสมของเสีย, ภาวะหลอดเลือดตีบแข็งทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ลดลง โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease), โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease), โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคจอประสาทตาเสื่อม ในขณะที่โรคมะเร็งก็เป็นโรคที่พบบ่อยขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการแบ่งเซลล์ของผู้สูงอายุมักผิดปกติไป ทำให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งขึ้น

โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ควรตรวจอะไรบ้าง?

เป้าหมายการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุจึงต้องมีความครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพทั่วไป รวมถึงการคัดกรองหาโรคที่เกิดจากความเสื่อม และโรคมะเร็ง โดยมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1. การตรวจสุขภาพทั่วไป

    • สัญญาณชีพ ได้แก่ ความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ ชั่งน้ำหนัก และส่วนสูง
    • การตรวจวัดสายตา และการได้ยิน
    • การตรวจสุขภาพฟัน
    • การตรวจสมรรถนะการเคลื่อนไหว และสมดุล เพื่อประเมินความเสี่ยงของการหกล้ม
    • การประเมินสุขภาพจิต โดยเฉพาะด้านความจำ และโรคซึมเศร้า

    2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดกรองความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ

    • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
    • ภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray)
    • ระดับน้ำตาล (Blood glucose) และไขมันในเลือด (Lipid profile)
    • ค่าการทำงานของตับ (Liver function test)
    • ค่าการทำงานของไต (Creatinine)
    • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count)
    • ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid function test)
    • การตรวจวัดค่ามวลกระดูก (Bone mineral density)

    3. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

    • มะเร็งปอด: ตรวจภาพรังสีทรวงอก
    • มะเร็งทางเดินอาหาร: ตรวจอุจจาระ, ส่องกล้องทางเดินอาหาร, ค่ามะเร็ง Carcinoembryonic antigen (CEA)
    • มะเร็งเต้านม: ตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram)
    • มะเร็งตับ และทางเดินน้ำดี: ตรวจค่าการทำงานของตับ และอัลตราซาวด์ช่องท้อง
    • มะเร็งต่อมลูกหมาก: ตรวจค่ามะเร็ง Prostate specific antigen (PSA)
    • มะเร็งปากมดลูก: ตรวจภายใน คัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเชื้อเอชพีวี
    • มะเร็งมดลูก และรังไข่: ตรวจอัลตราซาวด์มดลูกรังไข่ และค่าบ่งชี้มะเร็งกรณีที่พบก้อน

    การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ

    เมื่อรู้จักกับโปรแกรมตรวจร่างกายผู้สูงอายุกันไปแล้ว อีกสิ่งที่อย่ามองข้ามเด็ดขาดนั่นคือการเตรียมตนเองให้พร้อม เพื่อให้ผลตรวจออกมาถูกต้อง แม่นยำ บ่งบอกถึงสุขภาพได้ชัดเจนมากที่สุด

    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในคืนก่อนเข้ารับการตรวจ
    • งดอาหาร และน้ำดื่ม (จิบน้ำเปล่าได้) 8-10 ชม. ก่อนการตรวจระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด
    • กรณีมียาที่ใช้ประจำ ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้รู้ว่าต้องหยุดยาก่อนการตรวจหรือไม่

    อย่างไรก็ตาม โรคที่กล่าวมาทั้งหมด พบในกลุ่มอายุต่างกัน อีกทั้งแต่ละคนยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัว เช่น คนที่สูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เป็นต้น หมอจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรค ก่อนที่จะเลือกรายการตรวจคัดกรองโรค เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูงอายุ สำหรับคลินิกของเราก็มีแพคเกจตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือนัดหมายเพื่อเข้าตรวจได้ครับ