ฝากครรภ์ต้องทำอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร ว่าที่คุณแม่ต้องรู้
เมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็นคุณแม่ สิ่งสำคัญที่ต้องทำหลังเริ่มตั้งครรภ์นั่นคือการ “ฝากครรภ์” อย่างไรก็ตามคุณแม่หลายคนที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกอาจยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แล้วมีประโยชน์ต่อตนเองกับลูกน้อยอย่างไร ดับเบิ้ลยูไลฟ์คลินิก จึงขอแชร์ข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการฝากครรภ์ให้คุณแม่มือใหม่ได้รู้กัน
การฝากครรภ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
การฝากครรภ์ คือ การติดตามดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงลูกน้อยอย่างต่อเนื่องจนคลอด ถึงแม้ว่าการตั้งครรภ์จะเป็นกลไกตามธรรมชาติ แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าอัตราการตายของหญิงตั้งครรภ์อยู่ที่ 1 รายต่อการคลอด 10,000 ราย ซึ่งนับเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 90 ของการตายทั้งหมดของหญิงวัยเจริญพันธุ์ การฝากครรภ์จึงมีเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน รวมถึงควบคุมความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น โดยมีข้อมูลยืนยันว่าการฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพช่วยลดอัตราการตายของมารดา และทารกได้อย่างชัดเจน
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
1. เสริมสร้างสุขภาพที่ดีทั้งแม่และลูก
ระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 20 – 30% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ขึ้นไป นอกจากจะเสริมการเจริญเติบโตของทารกแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกายคุณแม่ในช่วงคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้มาก และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ การฝากครรภ์จึงเป็นเหมือนการเตรียมการ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นนั่นเอง นอกจากการตรวจแล้ว คุณหมอจะฉีดวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น และยังส่งผลดีต่อลูกในขวบปีแรกหลังคลอดอีกด้วย
2. คัดกรองความผิดปกติ และติดตามการเติบโตของทารก
ในแต่ละไตรมาส การอัลตราซาวด์มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ทารกยังขนาดตัวเล็ก การตรวจจะเป็นเพื่อยืนยันตำแหน่งถุงการตั้งครรภ์ จำนวนทารก รวมถึงระบุอายุครรภ์ และกำหนดคลอดอย่างแม่นยำ เมื่อเข้าไตรมาสที่ 2 ทารกเริ่มโตขึ้นจนเห็นอวัยวะภายในต่าง ๆ ก็จะสามารถอัลตราซาวด์เพื่อคัดกรองความผิดปกติของทารกได้ และในช่วงไตรมาสที่ 3 การอัลตราซาวด์ยังคงจำเป็นต่อการติดตามการเจริญเติบโต รวมถึงสุขภาพของทารก
3. ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการคลอด
อันตรายที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดถึงแม้จะรุนแรง แต่ส่วนใหญ่สามารถป้องกัน และคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ การคลอดทารกท่าก้น การคลอดทารกที่ตัวโตเกินกว่าเชิงกรานของมารดา หากตรวจพบจะทำให้สามารถวางแผนการคลอดที่เหมาะสม ลดภาวะแทรกซ้อนได้ต่อทั้งมารดา และทารก
ควรเริ่มไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ รอถึงกี่เดือนดี?
คุณแม่สามารถนัดเข้าตรวจกับคุณหมอได้เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปอายุครรภ์อย่างเร็วที่สุดที่จะทราบน่าจะอยู่ที่ 4 – 6 สัปดาห์นับจากประจำเดือนครั้งสุดท้าย การตรวจยืนยันตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อยมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ผิดปกติ ได้แก่
กลุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เช่น เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือผู้ที่ตั้งครรภ์จากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หากวินิจฉัยได้ช้า ถุงการตั้งครรภ์อาจจะแตกทำให้เลือดออกในช่องท้องปริมาณมาก ถึงขั้นเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแท้ง (Abortion) เช่น เคยแท้งบุตรมาก่อน อายุมากกว่า 35 ปี, มีบุตรยาก ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ในบางรายการให้ยาฮอร์โมนอาจช่วยลดความเสี่ยงการแท้งบุตรได้
นอกจากนี้ การคัดกรองโรคต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาในการรอผลตรวจ หากฝากครรภ์ช้าผลตรวจออกล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการดูแลแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำกรมอนามัยแนะนำให้เริ่มฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์จะเหมาะสมที่สุด
ต้องฝากครรภ์ทั้งหมดกี่ครั้ง
ความถี่ของการพบแพทย์ในหญิงตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำตามคำแนะนำดั้งเดิม จะแบ่งเป็น
- อายุครรภ์ไม่เกิน 28 สัปดาห์ นัดทุก 4 สัปดาห์
- อายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์ นัดทุก 2 สัปดาห์
- อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ นัดทุก 1 สัปดาห์
หลังจากมีข้อมูลมากขึ้น องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนคำแนะนำให้ฝากครรภ์ทั้งหมด 8 ครั้ง โดยสามารถกำหนดความถี่ของการพบแพทย์ตามความเหมาะสม แบ่งเป็น
- ไตรมาสที่ 1 ฝากครรภ์ 1 ครั้ง
- ไตรมาสที่ 2 ฝากครรภ์ 2 ครั้ง
- ไตรมาสที่ 3 ฝากครรภ์ 5 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ความถี่ของการพบแพทย์ระหว่างฝากครรภ์ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงทั้งจากด้านคุณแม่ และลูกน้อย เช่น กรณีที่ทารกตัวเล็กกว่าเกณฑ์ หรือเป็นครรภ์แฝดก็อาจจะต้องมาพบแพทย์บ่อยขึ้น
ระหว่างฝากครรภ์มีรายการตรวจอะไรบ้าง
1. ไตรมาสที่ 1 (ก่อนอายุครรภ์ 14 สัปดาห์)
เริ่มต้นจากการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ และกำหนดคลอด หลังจากนั้นคุณหมอจะสอบถามประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในอนาคต และส่งตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ส่วนการตรวจเลือด คุณหมอจะตรวจเลือดพื้นฐาน เพื่อดูหมู่เลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อทารก สำหรับในประเทศไทย เราพบความชุกของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มากถึงร้อยละ 30 หญิงตั้งครรภ์ทุกรายจึงต้องตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียด้วย
ในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 1 จะสามารถตรวจคัดกรองโรคดาวน์ด้วยวิธี NIPT (Non-invasive prenatal testing) ซึ่งมีความแม่นยำสูงถึง 99% โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร เพราะเป็นการตรวจหาเซลล์ทารกจในเลือดของมารดาเท่านั้น
2. ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ตั้งแต่ 14-28 สัปดาห์)
ในช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มโตขึ้นจนสามารถอัลตราซาวด์คัดกรองความผิดปกติได้ ในรายที่ความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติสูง เช่น มีประวัติครอบครัวลิ้นหัวใจรั่ว, เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ อาจต้องอัลตราซาวด์คัดกรองอย่างละเอียด โดยคุณหมอเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Ultrasound MFM) ในรายที่ความเสี่ยงต่อความผิดปกติสูงคุณหมออาจจำเป็นต้องส่งไปเจาะน้ำคร่ำ หรือเจาะเลือดสายสะดือทารก เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ
สำหรับการตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ เป็นทางเลือกที่สามารถตรวจได้ในช่วงนี้เช่นกัน ซึ่งคุณแม่จะได้เห็นภาพใบหน้าของลูกน้อยไปพร้อมๆ กับคุณหมอ สำหรับการตรวจของดับเบิ้ลยูไลฟ์คลินิก หลังทำเสร็จ คุณหมอจะตัดต่อและส่งคลิปวิดีโอให้เป็นที่ระลึกด้วย อย่างไรก็ตาม การตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติไม่ได้เพิ่มความแม่นยำในการคัดกรองความผิดปกติ จึงไม่จำเป็นต้องทำเสมอไป
ช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานตอนอายุครรภ์ 24 – 28 สัปดาห์
3. ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป)
คุณหมอจะนัดตรวจบ่อยขึ้นเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารก และเฝ้าระวังภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งพบได้บ่อยในไตรมาสนี้ ส่วนการตรวจเลือดนั้น คุณหมอจะเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่พบการติดเชื้อในช่วงระยะการคลอด เพราะโรคอาจติดต่อไปยังลูกน้อยได้ ในบางรายที่มีความเสี่ยง คุณหมออาจตรวจคัดกรองโรคเบาหวานอีกครั้งหลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์
ต้องเตรียมอะไรไปฝากครรภ์บ้าง
ในครั้งแรก คุณหมอจะลงทะเบียนประวัติโดยใช้บัตรประชาชนของคุณแม่ หลังจากนั้นจะบันทึกข้อมูลการตรวจ และผลเลือดทั้งหมดลงในสมุดฝากครรภ์เพื่อให้พกพาได้ง่าย ในสมุดฝากครรภ์จะมีข้อมูลที่มีประโยชน์มากมาย เช่น การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์, อาหารที่ควรทานหรือหลีกเลี่ยง เป็นต้น หากคุณแม่มีโรคประจำตัว, ประวัติการผ่าตัด หรือประวัติการตั้งครรภ์ในอดีต แนะนำว่าควรนำมาให้คุณหมอดูด้วย เพื่อจะได้ให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการฝากครรภ์ ซึ่งทาง ดับเบิ้ลยูไลฟ์ คลินิกตรวจครรภ์ขอเน้นย้ำว่านี่คือเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนต้องใส่ใจและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกน้อยออกมาสุขภาพแข็งแรงมากที่สุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเข้ารับบริการจากทางดับเบิ้ลยูไลฟ์คลินิก สามารถสอบถามทางไลน์ได้ที่ @wlife1