ส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคปี (Colposcopy)
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV (Human papilloma virus) สามารถทำได้หลายวิธี อย่างการตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจปากมดลูก และผนังช่องคลอดเพื่อหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ อย่างไรก็ดี การตรวจ HPV ด้วยกล้องคอลโปสโคป มีรายละเอียดดังนี้
การตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) คืออะไร
การตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) คือ การตรวจเยื่อบุผิวภายในบริเวณปากมดลูก ช่องคลอด ปากช่องคลอด และทวารหนักซึ่งเป็นการตรวจภายในรูปแบบหนึ่ง โดยใช้กล้องสำหรับส่องเพื่อหาความผิดปกติหรือร่องรอยของโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคเอชพีวี หรือหูดหงอนไก่ มีจุดประสงค์เพื่อตรวจแยกว่าไม่มีมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลาม ตรวจหารอยโรคขั้นสูงเพื่อรักษาไม่ให้โรคลุกลาม และเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
ข้อดีของการตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy)
1. ตรวจได้อย่างละเอียด
การส่องกล้องคอลโปสโคปจะช่วยให้มองเห็นปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอดในมุมที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถตรวจสอบเนื้อเยื่อได้อย่างละเอียด ช่วยระบุบริเวณของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
2. ตรวจจับโรคในระยะเริ่มต้น
การส่องกล้องสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อก่อนเป็นมะเร็งได้ ทำให้สามารถดำเนินการรักษาได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
3. กำหนดการรักษาได้อย่างแม่นยำ
การส่องกล้องมะเร็งปากมดลูก แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อแบบเจาะจงจากบริเวณที่ดูผิดปกติ หรือระบุตำแหน่งและขอบเขตของรอยโรค ทำให้การวินิจฉัยแม่นยำและกำหนดแนวทางสำหรับขั้นตอนในการรักษาได้อย่างชัดเจน
4. ปลอดภัยและมีประสิทธิผล
การส่องกล้องเป็นขั้นตอนที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่ำ มีอัตราความแม่นยำสูง ทั้งยังสามารถใช้เพื่อติดตามผลและประเมินประสิทธิผลของการรักษาได้
เมื่อไหร่ถึงจะต้องตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy)
- เมื่อผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการอื่น ๆ พบความผิดปกติ หรือมีข้อบ่งชี้เล็กน้อยเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HPV
- ผลการตรวจ HPV มีความเสี่ยงสูง
- พบอาการเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ หรือมีตกขาวผิดปกติอย่างต่อเนื่อง
- ตรวจติดตามผลหลังการรักษารอยโรคด้วยการรักษาเฉพาะที่ เช่น การจี้ด้วยความเย็นและการตัดด้วยห่วงไฟฟ้า
คำแนะนำก่อนเข้ารับการตรวจ
โดยปกติแพทย์จะกำหนดการตรวจกล้องคอลโปสโคปในช่วงที่ผู้ป่วยไม่มีประจำเดือน เนื่องจากรูปลักษณ์ของปากมดลูกและเลือดอาจรบกวนการมองเห็น และต้องไม่ใส่อะไรเข้าไปในช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งวันก่อนทำหัตถการ จึงควรละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ครีมในช่องคลอด การสวนล้าง หรือใช้ผ้าอนามัยแบบสอด นอกจากนั้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์
อาการหลังตรวจและคำแนะนำหลังตรวจ
กรณีที่มีการตัดชิ้นเนื้อหลังส่องกล่อง ผู้เข้ารับการตรวจแบบส่องกล้องคอลโปสโคปอาจมีอาการข้างเคียงอย่างการปวดบริเวณปากมดลูก ตกขาวสีเข้มขึ้น เกิดบาดแผลและมีเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศเล็กน้อย ซึ่งแผลภายในช่องคลอดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ผู้ที่เข้ารับการตรวจจึงควรดูแลรักษาความสะอาดของแผลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแผล งดการมีเพศสัมพันธ์ งดการใช้ยาทา ยาสอด เจลหล่อลื่น และการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างน้อย 2 วันไปจนถึง 1-2 สัปดาห์หลังการตรวจ เพราะอาจสร้างความเจ็บปวดและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนอาการปวดอาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือยาแก้ปวด โดยถ้าพบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ มีอาการหนาวสั่น ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ตกขาวสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดไหลมากกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์หรือเข้ารับการตรวจที่คลินิกสูตินรีเวชใกล้บ้านทันที
การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูง มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่ำ สำหรับผู้ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีอื่น ๆ และพบความผิดปกติ การส่องกล้องจะช่วยให้การวินิจฉัยปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจมะเร็งปากมดลูก ที่ดับเบิ้ลยูไลฟ์มีบริการตรวจ HPV และ ส่องกล้องปากมดลูก สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางดับเบิ้ลยูไลท์ได้ทางไลน์ @wlife1