เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร มีข้อปฏิบัติอะไรบ้าง

ระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและฮอร์โมนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและอารมณ์ ตลอดจนวิถีชีวิตบางอย่างของผู้เป็นแม่ก็อาจจะส่งผลต่อเด็กในท้อง เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์และเด็กที่กำลังจะเกิดมามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มาดูกันว่าควรดูแลตัวเอง หรือควรทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
สิ่งที่ต้องทำทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
ยืนยันการตั้งครรภ์
เมื่อพบว่ามีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์ ควรใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (Home test) หรือนัดพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหรืออัลตราซาวนด์ 4 มิติ ยืนยันการตั้งครรภ์ แพทย์จะคำนวณวันครบกำหนดคลอดและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สามารถเริ่มต้นการดูแลก่อนคลอดได้ทันที รวมถึงเตรียมตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อต้อนรับทารกได้อย่างมีความพร้อมมากขึ้น
ฝากครรภ์โดยเร็ว
ในการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือกับคลินิกฝากครรภ์ หมอจะสอบถามข้อมูลสุขภาพของคุณแม่คุณพ่อและคนในครอบครัว ตรวจหาความผิดปกติของทารกหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในครรภ์ ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่จำเป็นเพื่อป้องกันโรคและภาวะเสี่ยง โดยในช่วงเวลา 9 เดือนของการตั้งครรภ์ จะต้องพบแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อการติดตามพัฒนาการของทารก และประเมินสุขภาพของคุณแม่เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และกาเฟอีนซึ่งเป็นอันตรายต่อทารก โดยอาจนำไปสู่การแท้งบุตร ภาวะเสี่ยงระหว่างคลอดหรือความพิการอื่น ๆ สมองและปอดของทารกอาจถูกทำลายจากผลของสารนิโคติน ขณะที่กาเฟอีนอาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ มีอาการนอนหลับผิดปกติ อาเจียน การหายใจและหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ตัวสั่น เป็นต้น
ควรหยุดยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก เช่น ยารักษาสิว หรือยากดภูมิคุ้มกันซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติในพัฒนาการ ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ และทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องการทานยาชนิดใดระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
เริ่มทานวิตามินเสริม
วิตามินจำพวกแคลเซียม โฟเลต ธาตุเหล็ก มีส่วนช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างเหมาะสมและช่วยป้องกันข้อบกพร่องแต่กำเนิด นอกจากนั้นกรดไขมัน DHA และโอเมก้า 3 ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารก แม้คุณแม่อาจจะทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้แล้วก็ตาม ทว่าปริมาณสารอาหารอาจจะยังไม่เพียงพอ จึงควรทานวิตามินเสริมเพิ่มเติม
ข้อปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์
ด้านโภชนาการ
แม้ช่วงตั้งครรภ์จะทำให้คุณแม่มีความอยากอาหารที่แตกต่างจากปกติ ถึงกระนั้นก็จำต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เลือกทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้สารอาหารครบถ้วนสำหรับลูกน้อย ควรดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากน้ำจะช่วยส่งเสริมการไหลเวียนโลหิต อันเป็นส่วนสำคัญสำหรับการนำสารอาหารและออกซิเจนไปยังทารกผ่านทางรก และยังส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ลดอาการท้องผูกซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงอาหารดิบ อาหารทะเลบางชนิด และของหวานมากเกินไปเพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ
การออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน โยคะ หรือว่ายน้ำ โดยควรตั้งเป้าหมายออกกำลังกายให้ได้ 30 นาทีเกือบทุกวันในสัปดาห์ แต่ก็ไม่ควรหักโหมจนเกินไป การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียด เพิ่มการไหลเวียนโลหิต และทำให้อารมณ์ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษ ข้อสำคัญคือควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการล้ม หรือกระแทกแรง ๆ
สุขภาพจิตและการพักผ่อน
- การตั้งครรภ์ทำให้ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และความวิตกกังวลอาจทำให้นอนหลับได้ยาก ถึงกระนั้นคุณแม่ก็ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยการตั้งเป้าหมายนอนหลับให้ได้ 7-9 ชั่วโมงทุกคืน หรืองีบหลับสักครู่หากรู้สึกเหนื่อย
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ชอปปิง หรือท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้การลดระดับความเครียดจะช่วยรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อทั้งแม่และลูก
- ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด เนื่องจากฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล อาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกได้
การดูแลสุขภาพและการตรวจครรภ์
ควรไปตามนัดฝากครรภ์ทุกครั้งเพื่อติดตามพัฒนาการของทารก ทั้งควรหมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติของร่างกายและทารกในครรภ์อยู่เสมอเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และควรพบแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ แพทย์จะได้ช่วยวางแผนเตรียมการคลอดที่เหมาะสมกับสุขภาพของแม่และทารก
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบา ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำใจให้ผ่อนคลาย เพื่อให้ทารกในครรภ์เติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง