HPV คืออะไร สาเหตุและวิธีการป้องกัน

HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสผิวหนังอย่างใกล้ชิด หรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดที่อวัยวะเพศและมะเร็งปากมดลูก โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ที่สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ ทั้งนี้ข้อมูลด้านล่างคือรายละเอียดของเชื้อ HPV สาเหตุการเกิดโรคและวิธีการป้องกัน การตรวจ HPV เพื่อให้เข้าใจอันตรายของไวรัสได้ดียิ่งขึ้น
HPV คืออะไร?
ไวรัส HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งโดยปกติมักจะไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง เชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 ชนิด โดยประเภทของ HPV และความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์แบ่งเป็น 2 ชนิดประกอบด้วย
- ไวรัส HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ สายพันธุ์ 6 และ 11 มักทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ซึ่งหูดจะปรากฏขึ้นภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากได้รับเชื้อ
- ไวรัส HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง คือ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, และ 42 สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
HPV ติดต่อกันได้อย่างไร?
- การมีเพศสัมพันธ์ เชื้อจะแพร่กระจายผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือช่องปาก โดยไวรัสสามารถแพร่กระจายได้แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ ก็ตาม
- การสัมผัสผิวหนังซึ่งเป็นรอยโรคโดยตรง แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่ถ้าสัมผัสหูดที่มือหรือเท้า ก็สามารถติดโรคได้
- จากแม่สู่ลูก แม่ที่ติดเชื้อ HPV สามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังทารกได้ระหว่างการคลอดบุตร ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะ papillomatosis ในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นภาวะที่หูดจะเติบโตในลำคอของทารก
อาการของการติดเชื้อ HPV
ถ้าติดเชื้อ HPV โดยส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนเนื่องจากร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อน แต่ถ้าปรากฏอาการ จะมีลักษณะดังนี้
- หูด อาจปรากฏตุ่มนูนหยาบที่มือและนิ้ว ทำให้เจ็บปวด มีเลือดออก หูดที่ฝ่าเท้าจะมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อแข็งเป็นเม็ดเล็ก ๆ มักเกิดขึ้นที่ส้นเท้าหรือฝ่าเท้า หูดบริเวณอวัยวะเพศจะมีลักษณะเป็นแผลแบน ๆ ตุ่มเล็ก ๆ เหมือนดอกกะหล่ำ ในผู้หญิง มักจะเกิดขึ้นที่ช่องคลอด แต่สามารถเกิดขึ้นใกล้ทวารหนักและปากมดลูกได้เช่นกัน ในผู้ชาย เกิดขึ้นที่องคชาตและอัณฑะ หรือรอบทวารหนัก หูดบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้คันหรือรู้สึกเจ็บได้
- มะเร็ง ที่พบได้บ่อย คือ มะเร็งปากมดลูกซึ่งจะมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือตกขาวผิดปกติ และอาจมีอาการปวดร่วมด้วย ส่วนมะเร็งชนิดอื่นจะพบได้น้อยกว่า ได้แก่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาต มะเร็งลำคอ มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด
HPV กับโรคมะเร็ง
ไวรัส HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 สามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ เช่นเดียวกันถ้าได้รับเชื้อทางปาก ไวรัส HPV จะส่งผลต่อคอ โคนลิ้น และต่อมทอนซิล ทำให้เป็นมะเร็งในช่องปาก
วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV
- รับวัคซีนป้องกันไวรัส HPV โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ทั้งชนิดที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่ำ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ซึ่งอาจมีข้อกำหนดในการฉีดแตกต่างกันไปตามประเภทวัคซีน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่มีหูด ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่เนื่องจากเชื้อ HPV ติดต่อผ่านการสัมผัส การใช้ถุงยางอนามัยจึงไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ทว่าสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
- กำหนดการตรวจ HPV เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจะทำให้พบรอยโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยทำได้ทั้งการตรวจภายในหรือการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือเนื้อเยื่อเพื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการ
ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางดับเบิ้ลยูไลฟ์คลีนิค
คลินิกเฉพาะทางสูตินรีเวช
การรักษาเมื่อได้รับเชื้อ HPV
กรณีเป็นหูดอาจจะต้องผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาทาภายนอก แต่ถ้าได้รับเชื้อชนิดที่มีความเสี่ยงสูงจำเป็นต้องตรวจ HPV หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
เมื่อพบอาการผิดปกติของร่างกายและคิดว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อไวรัส HPV ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจ HPV การตรวจพบโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จะทำให้การรักษาทำได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ลดระยะเวลาในการรักษา และทำให้อาการไม่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต