ยาคุมฉุกเฉินกินอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาคุมฉุกเฉินเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้หญิงที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมฉุกเฉินจำเป็นต้องเข้าใจถึงวิธีการใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ปลอดภัยต่อร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร
ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraception Pill) คือ ยาสำหรับคุมกำเนิดหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน ซึ่งต้องใช้ยาภายใน 3 ถึง 5 วัน ทั้งนี้ถ้าใช้ยาเร็วเท่าไร ประสิทธิภาพของยาก็จะมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมฉุกเฉินควรเป็นวิธีแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น หากคุณต้องการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยในระยะยาว ควรพิจารณาการคุมกำเนิดระยะยาว เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัย หรือวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับร่างกายและไลฟ์สไตล์ของคุณ
ประเภทของยาคุมฉุกเฉิน
- เลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เป็นยาคุมฉุกเฉินประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และจะได้ผลดีที่สุดเมื่อรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
- ยูลิพริสทัล อะซิเตท (Ulipristal Acetate) เป็นยาคุมฉุกเฉินประเภทที่ต้องมีใบสั่งยา โดยสามารถรับประทานได้ไม่เกิน 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
ยาทั้งสองประเภทออกฤทธิ์โดยชะลอการตกไข่ หากเกิดการตกไข่แล้ว ยาจะไร้ผล และไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์กรณีที่มีการปฏิสนธิและเกิดตัวอ่อนแล้ว ยาจึงไม่ได้มีไว้สำหรับการคุมกำเนิดแบบปกติ
วิธีการกินยาคุมฉุกเฉินที่ถูกต้อง
ยาคุมฉุกเฉินต้องกินตามคำแนะนำของยาแต่ละประเภท และควรกินยาทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน กรณีที่เป็นยาแบบ 2 เม็ด สามารถกินได้พร้อมกันซึ่งประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจะไม่แตกต่างจากการแบ่งกิน 2 เม็ด ทั้งนี้ถ้าเกิดการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงจะต้องกินใหม่ จึงแนะนำให้กินยาแก้อาเจียนก่อนการกินยาคุม ไม่แนะนำให้กินยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 กล่อง หรือ 4 เม็ดต่อเดือนเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงกับรังไข่ในระยะยาว อย่างไรก็ดีถ้าประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนดหนึ่งสัปดาห์ จำเป็นต้องทดสอบการตั้งครรภ์
ผลข้างเคียงจากการกินยาคุมฉุกเฉิน
- คลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้มากที่สุด
- ปวดหัว ผู้ใช้ยาบางคนอาจมีอาการปวดหัว แต่ความรุนแรงและระยะเวลาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น
- วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด เป็นผลข้างเคียงจากการที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
- อ่อนเพลีย โดยจะรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้าผิดปกติ
- ปวดท้องหรือเป็นตะคริว เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงบางคน
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมทั้งอาจมีเลือดออกมากหรือน้อย หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอย
- อารมณ์ไม่คงที่ โดยอาจหงุดหงิดง่าย มีความรู้สึกวิตกกังวล หรือรู้สึกเศร้าผิดปกติ
ผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นชั่วคราวและจะหายไปภายในไม่กี่วัน ถึงกระนั้นถ้ามีอาการใด ๆ อย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรพบแพทย์หรือปรึกษาคลินิกนรีเวชใกล้บ้าน
ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุม
- ผู้ที่แพ้ยา หากมีอาการแพ้ยา ควรอ่านส่วนประกอบของยาคุมฉุกเฉินโดยละเอียด
- เป็นโรคหอบหืดรุนแรง ผู้ที่รับประทานกลูโคคอร์ติคอยด์เพื่อควบคุมโรคหอบหืดรุนแรงควรหลีกเลี่ยงยาคุมฉุกเฉินชนิดยูลิพริสทัล อะซิเตท
- มีการใช้ยาซึ่งมีส่วนผสมของโปรเจสโตเจน ถ้าในระยะเวลา 7 วันก่อนหน้า มีการรับประทานยาที่มีส่วนประกอบของโปรเจสโตเจน ควรงดยาคุมฉุกเฉินชนิดยูลิพริสทัล อะซิเตท เนื่องจากโปรเจสโตเจนอาจทำให้ประสิทธิภาพของยูลิพริสทัล อะซิเตทลดลง
- ดัชนีมวลกายสูง ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินชนิดเลโวนอร์เจสโตรลลดลง
ยาคุมฉุกเฉินถือได้ว่าเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ค่อนข้างปลอดภัยวิธีหนึ่ง แต่เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และควรใช้ยาเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจเท่านั้น ทั้งนี้ถ้าต้องการวางแผนการคุมกำเนิด ควรทานยาคุมกำเนิดแบบ 22 หรือ 28 เม็ด หรือใช้วิธีการอื่นเพื่อให้การคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทางดับเบิ้ลยูไลฟ์คลีนิคมีบริการคุมกำเนิดระยะยาว หากสนใจเข้ารับบริการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสาารถติดต่อได้ทางไลน์ @wlife1