การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานสำคัญอย่างไร ควรตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ตรวจเลือดก่อนแต่งงาน

การเตรียมตัวก่อนแต่งงานไม่ได้จำกัดเพียงแค่การวางแผนจัดงานหรือการเตรียมการสำหรับชีวิตคู่ในอนาคตเท่านั้น แต่การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือตรวจเลือดก่อนแต่งงานเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานช่วยให้คู่รักสามารถรับรู้ถึงภาวะสุขภาพของตนเองและคู่สมรส เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิตคู่และลูกหลานในอนาคต บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับความสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

 ความสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อหาโรคต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพและจิตใจสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างยั่งยืน การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานช่วยให้คู่รักทราบถึงความเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตคู่ในระยะยาว เช่น โรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูก โรคติดต่อที่อาจป้องกันได้ด้วยการกินยา หรือฉีดวัคซีน นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกันอีกทางหนึ่งด้วย

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีที่ทั้งคู่มีความต้องการมีบุตร การตรวจหาความพร้อมในการมีบุตรช่วยให้คู่สมรสสามารถวางแผนการตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ หากพบปัญหาก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาหรือปรับปรุงการดูแลสุขภาพได้ทันท่วงที

โรคที่สามารถส่งต่อไปยังคนในครอบครัวได้

โรคที่สามารถแพร่ไปสู่ลูกได้มีทั้งโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและโรคติดเชื้อบางประเภท ในขณะที่คู่รักก็อาจได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งโรคเหล่านี้อาจมีผลต่อสุขภาพทั้งของคู่สมรสและลูกในระยะยาวได้

1. โรคทางพันธุกรรม

โรคเหล่านี้ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกผ่านทางพันธุกรรม ซึ่งหลายครั้งที่พ่อ หรือแม่เป็นเพียงพาหะของโรคซึ่งไม่แสดงอาการ แต่ลูกที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นพาหะทั้งคู่อาจเกิดโรคได้ โดยโรคที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

  • ภาวะหมู่เลือดหมู่ Rh ลบ (Rh negative) ภาวะนี้ไม่ใช่ความผิดปกติโดยตรง แต่หญิงตั้งครรภ์ที่มีหมู่เลือดเป็น Rh ลบอาจสร้างภูมิเพื่อทำลายเม็ดเลือดของลูกที่เป็น Rh บวก ทำให้ทารกมีภาวะบวมน้ำ และเสียชีวิตได้ เป็นที่มาของการตรวจหมู่เลือดนั่นเอง
  • โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia): อาจเรียกว่าโรคประจำชาติไทยก็ว่าได้ พบว่าคนไทยเป็นพาหะโรคนี้สูงถึง 30 – 40% ทีเดียว โรคธาลัสซีเมียทำให้เกิดการผลิตฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเม็ดเลือดแดงมีความบกพร่อง ทำให้เกิดภาวะซีดได้ โดยระดับความรุนแรงของโรคอาจรุนแรงถึงขั้นทารกบวมน้ำ และเสียชีวิตในครรภ์ หรืออาจคลอดออกมาปกติโดยที่ไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ การตรวจคัดกรองพาหะของโรคจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง เพื่อประเมินความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดโรคนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ ที่ลักษณะการถ่ายทอดเป็นยีนแฝงเหมือนธาลัสซีเมีย เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis), โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria: PKU) แต่เป็นโรคที่พบน้อยในเชื้อชาติไทย จึงไม่ได้แนะนำให้ตรวจในคู่สมรสทุกราย

2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคกลุ่มนี้สามารถแพร่จากคู่สมรสคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างติดเชื้อ อาจส่งผลต่อทารกได้

  • ซิฟิลิส (Syphilis): เป็นโรคที่เชื้อหลบซ่อนในร่างกายได้ยาวนาน โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หากไม่รักษาอาจส่งผลต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น สมอง และกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังสามารถข้ามสายสะดือไปยังลูก ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) หรืออาจเกิดภาวะบวมน้ำจนเสียชีวิตในครรภ์ได้
  • ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B): สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และอาจส่งต่อจากแม่สู่ลูกได้ระหว่างคลอด โดยเฉพาะคนที่มีระดับเชื้อไวรัส (Viral load) ปริมาณสูง พบว่าหากเด็กได้รับเชื้อตั้งแต่แรกคลอด มักจะทำให้เด็กติดเชื้อไปตลอดชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ
  • ไวรัสเอชไอวี (Human immunodeficency virus): เป็นเชื้อไวรัสที่ยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้ และพบอุบัติการณ์ของเชื้อที่ดื้อยาสูงขึ้นเรื่อย ๆ โรคนี้นอกจากจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ตลอดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงคลอด และการให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจนควบคุมระดับเชื้อได้ จะทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในลูกต่ำกว่า 1%

3. โรคติดเชื้อที่ส่งผลต่อทารกในตั้งครรภ์

  • โรคหัดเยอรมัน (Rubella): หากแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์จะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลร้ายแรงต่อพัฒนาการของทารก เช่น ระบบประสาท การได้ยิน การมองเห็น และระบบหัวใจ
  • โรคอีสุกอีใส (Chicken pox): การติดเชื้ออาจทำให้เกิดอาการรุนแรงต่อทั้งหญิงตั้งครรภ์ และทารก อาจเกิดโรคอีสุกอีใสโดยกำเนิด (Congenital varicella syndrome) ทำให้ทารกมีรอยโรคที่ผิวหนัง และส่งผลต่อระบบประสาท
  • โรคเริม (Herpes Simplex Virus – HSV): หากติดเชื้อ และมีรอยโรคระหว่างการคลอดทางช่องคลอด จะทำให้ทารกติดเชื้อ และเข้าสู่ระบบประสาทได้

โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานควรมีอะไรบ้าง

โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานควรครอบคลุมการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อคู่รักและบุตรในอนาคต โดยทั่วไปการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานมักประกอบด้วยการตรวจต่าง ๆ ดังนี้:

1. การตรวจวัดสุขภาพทั่วไป (General Health Screening)

  • การตรวจร่างกายทั่วไป: ตรวจความดันโลหิต ชีพจร น้ำหนัก ส่วนสูง และค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
  • การตรวจภายใน และคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • หมู่เลือด (Blood group)
  • พาหะโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia Screening)
  • ภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน (Rubella Immunity)
  • ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar) *กรณีมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
  • ตรวจการติดเชื้อ HIV, ซิฟิลิส (Syphilis) และไวรัสตับอักเสบบี
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) และค่าการทำงานของไต (Creatinine) *กรณีที่มีความเสี่ยง เช่น มีภาวะตัวบวม หรือเคยเป็นโรคไตมาก่อน

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือการตรวจเลือดก่อนแต่งงานเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตคู่และการมีบุตร การตรวจนี้ช่วยให้คู่รักรู้ถึงความเสี่ยงสุขภาพที่อาจส่งผลต่ออนาคต เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และปัญหาสุขภาพทั่วไป การตรวจสุขภาพอย่างครอบคลุมจะช่วยลดความเสี่ยงและเสริมสร้างความมั่นใจในการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน หากใครสนใจตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ดับเบิ้ลยูไลฟ์คลินิกเฉพาะทางสูตินรีเวช หรือสอบถามข้อมูลทางไลน์ได้ที่ @wlife1