แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ตามธรรมชาติของโรคมะเร็งปากมดลูก หลังจากติดเชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus) เซลล์ปากมดลูกจะเริ่มผิดปกติทีละเล็กน้อย จนกระทั่งเป็นก้อนเนื้องอกที่ตรวจพบได้จากการตรวจภายใน ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนต่อมาเริ่มมีตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หากไม่มาตรวจรักษา รอยโรคอาจแพร่กระจายไปอวัยวะข้างเคียงทำให้ปัสสาวะ/อุจจาระปนเลือด หรือถ้ารอยโรคแพร่กระจายไปบริเวณอื่น เช่น ปอด ก็จะทำให้มีอาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองก่อนระยะมีอาการจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถรักษารอยโรคได้ตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งผลการรักษาย่อมได้ผลดีกว่าแน่นอน
(9.00 – 21.00 น.)
(10.00 – 20.00 น.)
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และ ตรวจหาเชื้อ HPV
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคือการเก็บเซลล์ปากมดลูกไปย้อมสีแล้วส่องตรวจใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าความความแม่นยำ 55 – 70% ขึ้นกับปริมาณ และคุณภาพของเซลล์ที่เก็บได้ จึงแนะนำให้ตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอทุก 1 – 2 ปีแม้ผลจะเป็นปกติก็ตาม นอกจากนี้ พบว่าการตรวจหาเชื้อเอชพีวีบริเวณปากมดลูกนั้นมีความไวสูงกว่าการตรวจหาเซลล์เพียงอย่างเดียว และจะดีที่สุดถ้าตรวจร่วมกัน (Cotesting) ทำให้แนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกมีทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่
- การตรวจเซลล์วิทยา (Cytology, pap smear) มีกระบวนการเก็บเซลล์ 2 วิธี ได้แก่
- Conventional cytology คือการใช้ไม้ Ayre spatula เก็บเซลล์ส่งตรวจ วิธีนี้จะได้เซลล์ปริมาณไม่มากนัก นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยมีตกขาวหรือเลือดออกมาก การตรวจหาเซลล์จะยิ่งทำยาก
- Liquid-based cytology คือการใช้อุปกรณ์คล้ายแปรงเพื่อเก็บเซลล์ แล้วส่งตรวจในสารคงสภาพเซลล์ วิธีนี้นอกจากจะได้เซลล์ปริมาณมากกว่า และยังทำให้เลือด หรือตกขาวถูกชะล้างออก คุณภาพของเซลล์ดีขึ้น แปลผลได้ง่าย ในปัจจุบันจึงนิยมใช้วิธีนี้ แต่ข้อเสียคือราคาสูงกว่า
- การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (Primary HPV testing) คือการเก็บเซลล์แบบวิธี Liquid-based cytology แต่ส่งตรวจหาเชื้อเอชพีวีอย่างเดียว พบว่าความแม่นยำดี แต่มักมีความยากในการวางแนวทางการรักษาต่อ โดยทั่วไปหากตรวจพบเชื้อเอชพีวีแล้ว จะต้องส่งตรวจทางเซลล์วิทยาเพิ่มเติม
- การตรวจเซลล์วิทยาคู่กับการหาเชื้อเอชพีวี (Cotesting) คือการเก็บเซลล์แบบวิธี Liquid-based cytology แล้วส่งตรวจทั้งเซลล์วิทยา และเอชพีวีควบคู่กัน วิธีนี้มีความแม่นยำสูงที่สุด หากผลตรวจ
- ปกติ ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 5 ปีถัดไปจะต่ำมาก จึงสามารถตรวจทุก 5 ปีได้ หากไม่มีอาการผิดปกติก่อน
รายละเอียด และคำแนะนำก่อนมาตรวจภายใน
- เข้ามาตรวจหลังประจำเดือนหมดใหม่ ๆ แต่หากเลือดออกผิดปกติ สามารถเข้ามาตรวจได้เลย
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดเกินไป แนะนำให้ใส่ชุดกระโปรง
- ไม่จำเป็นต้องสวนล้างในช่องคลอดก่อนเข้าตรวจ เพราะอาจตรวจไม่พบรอยโรคได้
- ไม่จำเป็นต้องโกนหรือกำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศก่อนตรวจภายใน
ขั้นตอนการตรวจภายในให้ไม่เจ็บ
- ปัสสาวะให้เรียบร้อย สวมผ้าถุง ถอดกางเกงชั้นในออก (ถ้าใส่กระโปรงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าถุง)
- เก็บสัมภาระ และของมีค่าในล็อกเกอร์ก่อนเข้าตรวจ
- ขึ้นเตียงตรวจ ใช้ส้นเท้ายันบริเวณขาหยั่ง นอนราบลงกับเตียง
- ขยับผ้าถุงใต้ก้นขึ้นให้พ้นก้น แล้วเลื่อนก้นลงมาให้พอดีขอบเตียง
- แยกเข่าออกจากกัน หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ แพทย์จะใส่อุปกรณ์เข้าไปตรวจในช่องคลอด จากนั้นจะใส่นิ้วมือเพื่อคลำหาก้อนในอุ้งเชิงกราน ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที
รายการตรวจ | Basic | Pro* |
ตรวจภายใน และคัดกรองมะเร็งปากมดลูกชนิด Conventional | 950 | 1990 |
ตรวจภายใน และคัดกรองมะเร็งปากมดลูชนิด Liquid based | 1350 | 2390 |
ตรวจภายใน และคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ร่วมกับตรวจหาเชื้อเอชพีวี (Cotest) | 2090 | 3190 |