บริการฝากครรภ์
ตรวจสุขภาพสตรีมีครรภ์ อัลตราซาวด์สองมิติ สี่มิติ ตรวจเลือดฝากครรภ์
คัดกรองโรคดาวน์ ตรวจเบาหวาน ฉีดวัคซีน รับยาบำรุงครรภ์
ให้คำแนะนำการคลอด ตรวจหลังคลอด
การฝากครรภ์
การตั้งครรภ์ถึงแม้จะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้อาจเกิดอันตรายต่อมารดา และทารกได้ การฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอเป็นการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพ เตรียมตัวสำหรับการคลอด ไปจนถึงการดูแลหลังคลอด การฝากครรภ์จะแบ่งแนวทางการดูแลตามไตรมาสดังนี้
(9.00 – 21.00 น.)
(10.00 – 20.00 น.)
การฝากครรภ์ 3 ไตรมาส
ไตรมาสที่ 1
เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการคาดการณ์กำหนดคลอด โดยแพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์ยืนยันอายุครรภ์ เมื่อทราบอายุครรภ์ และเห็นการเต้นของหัวใจทารกแล้ว จะตรวจเลือดฝากครรภ์ครั้งที่ 1 ซึ่งได้แก่ หมู่เลือด คัดกรองโรคธาลัสซีเมีย และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจมีผลต่อลูก ได้แก่ เชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจคัดกรองโรคดาวน์ซินโดรมบางวิธี สามารถทำได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก เช่น การตรวจ NIPT (Non-invasive prenatal testing)
วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดได้แก่ วัคซีนบาดทะยัก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนครบคอร์สมาก่อน
ไตรมาสที่ 2
เมื่อเข้าไตรมาสที่ 2 การอัลตราซาวด์จะเริ่มเห็นรายละเอียดมากขึ้น จึงเหมาะกับการตรวจคัดกรองความผิดปกติ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจคัดกรองโรคดาวน์ได้ โดยแนะนำให้ตรวจจนเสร็จสิ้นก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสที่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการติดเชื้อโควิด 19 ร่วมด้วย
ในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 หญิงตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์สูงขึ้น จึงต้องตรวจเลือดคัดกรองด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานอยู่แล้ว เช่น มีภาวะอ้วน อายุมากกว่า 35 ปี เป็นต้น
ไตรมาสที่ 3
ไตรมาสที่ 3 น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะอัลตราซาวด์ติดตามการเจริญเติบโตของทารก เมื่ออายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์จะมีการตรวจเลือดครั้งที่ 2 เพื่อคัดกรองภาวะซีด และโรคติดเชื้อ นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 คือครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมักเกิดช่วงท้าย และอาจมีอาการรุนแรงได้ในบางราย
วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้แก่ วัคซีนคอตีบไอกรน ซึ่งจะส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกได้อีกด้วย
[X]ทราบผลการประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น
ประเมินหาสาเหตุมีบุตรยากโดยแพทย์เฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐาน ตามหลักฐานวิชาการที่ทันสมัย
สามารถสอบถามได้ทั้งที่คลินิก และระบบออนไลน์
เพราะความสุขของคุณ คือเป้าหมายของเรา
ความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อแม่ลูกสุขภาพดี
นอกจากการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หญิงตั้งครรภ์ควรให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กน้อย ได้แก่ โภชนาการ การนอนหลับ และการออกกำลังกาย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในสมุดฝากครรภ์สีชมพู โดยกรมอนามัยมีคำแนะนำโดยสรุปดังนี้
- อาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และขนาดของมดลูกทำให้ทานอาหารต่อมื้อได้ลดลง และยังหิวบ่อยมากขึ้น จึงควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างอีก 2 มื้อ โดยเลือกชนิดของอาหารที่หลากหลาย เลือกทานข้าว/แป้งชนิดไม่ขัดสี และลดของหวาน ทานผักผลไม้บ่อย ๆ เพื่อให้การขับถ่ายดี โดยเลือกชนิดที่หวานน้อย
- การนอนหลับ ควรนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น การนอนตะแคงซ้ายจะทำให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น หลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่ช่วงเย็น เพราะอาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนตอนเข้านอนได้ สุขภาพการนอนที่ดีนอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังพบว่าลดการเกิดโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
- การออกกำลังกาย แนะนำให้ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย 20 – 30 นาที/วัน และฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และอุ้งเชิงกราน เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมสำหรับการคลอดแล้ว ยังช่วยลดอาการปวดเมื่อย และลดความเสี่ยงของเบาหวาน และครรภ์เป็นพิษได้ อย่างไรก็ตาม ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, รกเกาะต่ำ, ตั้งครรภ์แฝด ควรพิจารณาจำกัดการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้จัดทำคลิปวิดีโอ และอินโฟกราฟิกให้ความรู้ เพื่อการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน Link line official นี้
ควรคลอดวิธีไหนดี
การคลอดบุตรมี 2 ช่องทาง ได้แก่ การคลอดช่องคลอด และการผ่าตัดคลอด การคลอดทางช่องคลอดเป็นกลไกปกติตามธรรมชาติ ซึ่งมีข้อดีหลายประการ เช่น เสียเลือดน้อย การฟื้นตัวหลังคลอดดี ปวดแผลหลังคลอดน้อย และลดความเสี่ยงการหายใจเร็วหลังคลอดของทารก เป็นต้น จึงแนะนำให้คลอดทางช่องคลอด นอกจากจะมีข้อห้าม เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ, ทารกน้ำหนักตัวมาก, ส่วนนำทารกผิดปกติ, เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ควรพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดคลอด กรมอนามัยได้ทำคู่มือเพื่อช่วยตัดสินใจการเลือกวิธีคลอด สามารถกดดาวน์โหลดได้ ที่นี่