การฉีดยากระตุ้นไข่ กับ การกินยากระตุ้นไข่ แบบไหนดีกว่ากัน

ฉีดยากระตุ้นไข่ กับ กินยากระตุ้นไข่ แตกต่างกันอย่างไร

สำหรับคู่รักที่มีปัญหาการมีบุตรยาก อาจจะต้องมีเข้ารับกระบวนการรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ เช่น การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) หนึ่งในขั้นตอนสำคัญคือการฉีดยากระตุ้นไข่ นอกเหนือจากชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมแล้ว การเก็บรักษา และเทคนิคการฉีดยา ก็ล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่ บทความนี้จึงพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยากระตุ้นไข่ เพื่อให้ทราบรายละเอียดและผลข้างเคียงต่าง ๆ ของยา

วิธีการใช้ยากระตุ้นไข่ และ การฉีดยากระตุ้นไข่กับการกินยากระตุ้นไข่ แตกต่างกันอย่างไร

ยากระตุ้นไข่เป็นยาที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ไข่โต โดยออกฤทธิ์ทำให้ระดับฮอร์โมน FSH ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่เพิ่มการโตของเซลล์ไข่ในร่างกายให้สูงขึ้น ตัวยาจะมีทั้งรูปแบบกิน และฉีด โดยชนิดของยา และกลไกการออกฤทธิ์จะแตกต่างกัน ดังนี้

  1. ยากระตุ้นไข่ชนิดฉีด จะเข้าไปกระตุ้นการโตของไข่โดยตรง ทำให้ไข่โตได้ดี และได้ปริมาณไข่มากกว่ายากิน จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งการได้ไข่ที่มากเพียงพอก็จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์มากขึ้น การฉีดยากระตุ้นไข่จึงจำเป็นต้องฉีดให้ตรงเวลาทุกวันเพื่อรักษาปริมาณฮอร์โมนในกระแสเลือดให้คงที่ไม่คลาดเคลื่อน
  2. ยากระตุ้นไข่ชนิดกิน จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน FSH ออกมามากขึ้น ทำให้เซลล์ไข่โต โดยทั่วไปยาชนิดกินจะทำให้ระดับฮอร์โมน FSH ไม่สูงมาก เพราะฮอร์โมนจะถูกควบคุมจากต่อมใต้สมองเอง จึงสามารถกระตุ้นการโตของไข่ได้ปริมาณไม่มากนัก การใช้ยากินจึงเหมาะกับรอบการกระตุ้นไข่เพื่อการฉีดน้ำเชื้อ (IUI) ซึ่งต้องการฟองไข่ไม่มากเกินไป เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์แฝด

ผลข้างเคียงจากการได้รับยากระตุ้นไข่

เมื่อใช้ยากระตุ้นไข่จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายสูงขึ้น โดยจะพบในยาฉีดมากกว่ายากิน อาการข้างเคียงที่พบได้มีดังนี้

  • อาการปวดท้องน้อย: เนื่องจากรังไข่ขยายตัวจากการตอบสนองของยา
  • อาการบวม อืดท้อง: เนื่องจากฮอร์โมนที่สูงทำให้เกิดการสะสมน้ำในชั้นเนื้อเยื่อ
  • อาการคัดตึงเต้านม: จากฮอร์โมนที่สูงขึ้นระหว่างการกระตุ้นไข่
  • อาการปวดศีรษะ: มักพบในยากินบางประเภทจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

ผลข้างเคียงรุนแรงมักสัมพันธ์กับปริมาณของไข่ที่มาก เรียกว่าภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน (ovarian hyperstimulation syndrome: OHSS) ซึ่งเป็นภาวะที่มีการรั่วซึมของสารน้ำออกจากกระแสเลือดเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ช่องปอด เนื้อเยื่อของแขนขา ทำให้มีอาการอืดแน่นท้องมาก ทานข้าวไม่ได้ อาเจียน ซึ่งในบางรายหากเป็นมากอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำที่เหมาะสมร่วมกับการเจาะระบายน้ำออก

การปฏิบัติตัวขณะฉีดยากระตุ้นไข่

ในช่วงการฉีดยากระตุ้นไข่ ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้เพื่อให้ยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

  1. เก็บยาที่ยังไม่เคยเปิดใช้ในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส) ถ้าเคยเปิดใช้แล้ว สามารถเก็บยาในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นานสูงสุด 28 วัน
  2. ทำความสะอาดหน้าท้องด้วยแอลกอฮอล์ แล้วฉีดยาตามวิธีการที่แนะนำ
  3. ฉีดยาตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดคงที่ และไข่สามารถตอบสนองต่อยาได้เต็มประสิทธิภาพ
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ให้โปรตีนอย่างเพียงพอ เช่น ไข่ขาว เต้าหู้ นมสด นมถั่วเหลือง ปลา ควรเลือกทานอาหารที่สุกสะอาด
  5. ควรรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ
  6. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักอย่างหักโหม
  7. หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดยา หรือพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์

การฉีดยากระตุ้นไข่ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งของการกระตุ้นไข่ เพื่อให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพ และปริมาณเหมาะสม จึงควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน และเนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามที่แพทย์แนะนำ สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับคำปรึกษาสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมกับ ดับเบิ้ลยูไลฟ์คลินิกสูตินรีเวช ได้ครับ หรือสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลทางไลน์ @wlife1